Your shopping cart is empty!
ฝุ่นละออง PM2.5
PM2.5 ฝุ่นละอองกรุงเทพฯ : คุณควรกังวลแค่ไหน ?
ปริมาณฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานอีกครั้งภายในรอบไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษเตือนว่าประชาชนควรรับทราบ เพราะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ปัญหาฝุ่นละออง ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ แต่ที่ต่างไปในปีนี้ คือมันเกิดขึ้นเร็วและนานกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา
กรมควบคุมมลพิษแนะนำให้ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อพ้นช่วงกลางเดือน ก.พ. ไปแล้ว
"ได้ยินข่าวตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว แต่ใส่เพราะไม่สบายอยู่แล้วด้วย แล้วมันรู้สึกหายใจไม่สะดวก ลาดพร้าวเห็นชัดมากตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว" น.ส.แพร พักไตร ผู้อาศัยอยู่ในเขตลาดพร้าว กล่าวกับบีบีซีไทย บริเวณแยกราชประสงค์
"แม่ก็รู้สึกนะ เหมือนสมัยก่อนเขาจะบอกว่าอากาศแบบนี้อย่าออกไปข้างนอกเพราะจะไม่สบาย" เธอกล่าว
เมื่อเช้าวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา สถานีตรวจวัดสภาพอากาศในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 63-74 มคก./ลบ.ม. ซึ่งนับว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้
นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ aqicn.org ซึ่งนำตัวเลขจาก กรมควบคุมมลพิษ มาเทียบเป็นดัชนีคุณภาพอากาศ 0-500 ตามเกณฑ์ของสหรัฐฯ พบว่าตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา จำนวนฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง (151-200) ซึ่งนับว่า "มีผลกระทบต่อสุขภาพ" เกือบตลอด
ช่วงเวลา 7:00 น. ของวันที่ 8 ก.พ. ดัชนีขึ้นสูงถึง 203 ซึ่งนับว่า "มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก" ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษได้เคยอธิบายว่าต้องนำตัวเลขดังกล่าวมาเฉลี่ยเป็นรายวันในการวัดผลตามเกณฑ์ของสหรัฐฯ
ชาวกรุงเทพฯ ควรกังวลแค่ไหน ?
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ระดับฝุ่นละอองสร้างความกังวลให้กับชาวกรุงเทพฯ แต่ปัญหาฝุ่นละอองในปีนี้แตกต่างไปจากปีอื่นเพราะมาเร็วและอยู่นานกว่า
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ. สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ แนะนำว่าควรจับตาดูสถานการณ์ ถึงแม้ยังไม่เข้าขั้นวิกฤต
"ควรรับทราบไว้ และก็ระมัดระวังระดับหนึ่ง ถ้าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ ก็ระวังตัวนิดนึง คุณหมอบางท่านบอกว่าการสูดฝุ่นแบบนี้เข้าไปทำให้เลือดข้นได้ และทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น" นายเถลิงศักดิ์กล่าวกับบีบีซีไทย
เขาอธิบายว่าเป็นปกติที่อาจเกิดปัญหาฝุ่นละอองช่วงเปลี่ยนฤดู โดยเฉพาะปลายปีและต้นปี แต่ปีนี้มาเร็วกว่าปีที่แล้ว ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือน ก.พ. เนื่องจากสภาพอากาศปิดมีหมอก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงพื้น ฝุ่นละอองจึงสะสมเพราะไม่มีแรงผลักให้ลอยตัว
ปริมาณฝุ่น PM2.5 จากสถานีตรวจวัดบริเวณริม ถ.ดินแดง เฉลี่ย 1 ปี (พ.ศ. 2554-2559)
หน่วย: มคก./ลบ.ม.
ที่มา: สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง
"เราเคยมีรุนแรงกว่านี้ เมื่อปี 2559 ตัวเลขสูงกว่านี้ แต่ว่าเป็นช่วงสั้น ๆ วันเดียวแล้วหายไปเลย แต่ครั้งนี้มันหลายวันในระดับ 40-80 มคก. ต่อ ลบ.ม." นายเถลิงศักดิ์กล่าว
ทุกครั้งที่กรมควบคุมมลพิษพบว่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงเกินมาตรฐาน จะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ของ กทม. เพื่อเฝ้าระวังและกวดขันกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละออง
ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า ลักษณะความกดอากาศแปรปรวนนี้จะมีไปถึงช่วงสัปดาห์หน้า นั่นแปลว่ามีแนวโน้มที่ปัญหาฝุ่นละอองจะคลี่คลายลงนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนนี้
ฝุ่น PM2.5 คืออะไร
ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเทียบแล้วเล็กกว่า 3% ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์
ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิเช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่
ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ
ดินแดงฝุ่นเยอะขึ้นทุกปี
รายงานที่จัดทำโดยฝ่ายข้อมูลคุณภาพอากาศ สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง แสดงให้เห็นว่า ฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยรายปีบริเวณริม ถ.ดินแดง ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น ช่วงปี 2554-2559
ช่วงปีที่ผ่านมา นครปักกิ่งของจีน เผชิญกับวิกฤตฝุ่นละอองที่ย่ำแย่กว่ากรุงเทพฯ โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งปีถึง 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบได้กับการสูบบุหรี่วันละ 4 มวนต่อวัน
หนึ่งในการแก้ปัญหาของทางการจีนคือการบังคับให้ประชาชนสลับกันใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ตามวันที่กำหนด ขณะที่ในปี 2559 กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่รถติดที่สุดในโลก และยังมีจำนวนรถจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"ยังไม่ถึงระดับแบบจีน เราอาจจะอยู่ในระดับเพิ่งเริ่มต้นของจีน แต่พวกเราในกรุงเทพฯ เองเนี่ย ต้องช่วยกัน เรื่องยานพาหนะ รถยนต์ ต้องตรวจสภาพ อย่าไปดัดแปลงรถ ปัญหามลพิษหลักของกรุงเทพฯ อยู่ที่การจราจร ถ้าจัดจราจรให้ดีได้ ก็จะช่วยลดมลพิษลงได้" นายเถลิงศักดิ์ กล่าว
เครื่องวัด PM2.5 ราคา 1800.-
เครดิต: ขอขอบคุณ บทความจาก bbc.com